ไอแบงก์เปิดงาน Thailand Islamic Finance Forum 2025 (TIFF 2025) ผลักดันระบบนิเวศน์ของการเงินอิสลามในประเทศไทย สู่ความยั่งยืน
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร และ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ผู้แทนจุฬาราชมนตรี และประธานเครือข่ายสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีร่วมเปิดงาน Thailand Islamic Finance Forum 2025 (TIFF 2025) “มากกว่าธนาคาร : การเงินอิสลาม รากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง” โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายชาครีย์อมร ติรชุลีสุนทร กรรมการธนาคาร คณะผู้บริหารธนาคาร ผู้บริหารสหกรณ์อิสลาม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานกว่า 300 ท่าน
การจัดงานในครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ รวม 9 เรื่อง อาทิ มาตรฐาน ESG สู่การพัฒนาระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยอย่างยั่งยืน, สหกรณ์อิสลาม : สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สู่สถาบันการเงินฐานคุณธรรมในประเทศไทย, การส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานชะรีอะห์ภิบาลของระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย, ก้าวนำระบบการเงินภาคสหกรณ์ไทย สู่การสร้างฐานเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม, โอกาสและความท้าทายของการศึกษา การเงินอิสลาม และธุรกิจฮาลาล สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวภูเก็ต, การเงินอิสลาม รากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง อย่างยั่งยืน, การเงิน การลงทุน และธุรกิจอิสลาม : แนวทางสู่การเติบโตในยุคดิจิทัล, การเงิน การลงทุนอิสลาม มองผ่านเลนส์ คนรุ่นใหม่ และการสร้างแบรนด์ แนบศรัทธา Marketing แบบจริงใจ
ในการนี้ ดร.ทวีลาภ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อที่น่าสนใจ เรื่อง “มาตรฐาน ESG สู่การพัฒนาระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยอย่างยั่งยืน” บ่งบอกถึงความคาดหวังที่ต้องการผลักดันให้ระบบนิเวศน์ของการเงินอิสลามในประเทศไทยได้มีการเติบโต ขยายตัว และมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง
● การจัดวางโครงสร้างหลักการทางการเงินอิสลาม ตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม หรือ Maqasid Al-Shariah โดยธนาคารจะร่วมมือกับสหกรณ์อิสลาม และสถาบันการศึกษา ร่วมกันตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อศึกษากรอบการดำเนินงานในเบื้องต้น
● การนำ ESG มาใช้ในกระบวนการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินอิสลาม และระบบการเงินกระแสหลักที่มุ่งไปสู่เป้าหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดพลังทางสังคมที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น
● การสร้างการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายช่องทางของระบบทางการเงินอิสลามภายในประเทศกับภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียที่มีองค์ความรู้ทางการเงินและการศึกษาที่เข้มแข็งที่สามารถเชื่อมโยงกับตะวันออกกลาง ผ่านกระบวนการทางความคิด ผ่านนักการธนาคารและนักการศาสนา เพื่อให้แน่ใจได้ว่าระบบการเงินอิสลามได้ดำเนินการสอดคล้องไปกับโลกสมัยใหม่ที่เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ดร.ทวีลาภ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ การส่งเสริมพัฒนามาตรฐานชะรีอะห์ภิบาลของระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย ปัจจุบันมีสินทรัพย์โดยรวมของทั้งระบบมากถึง 150,000 ล้านบาท ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในการสร้างความร่วมมือ และขับเคลื่อนระบบการเงินอิสลามในประเทศไทย และการที่ภาคีเครือข่ายการเงินอิสลามประเทศไทยได้ร่วมกันกำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการเงินอิสลาม สู่ความมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการรวมตัวด้านการเงินอิสลาม และหวังว่า ทุกภาคส่วนทุกภาคีเครือข่ายจะได้ร่วมมือกันผลักดัน และพัฒนาด้านการเงินอิสลาม การเงินฐานคุณธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ให้มีฐานรากที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
4584