“คณะทำงานบูรณาการการกำหนดยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค” เริ่มดำเนินงานตามนโยบาย Aviation Hub จับมือทุกภาคส่วนการบิน ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO หนุน Air Cargo สัญชาติไทย
พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะประธานคณะทำงานบูรณาการการกำหนดยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ที่ได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุม Kick Off นโยบาย Aviation Hub ที่จัดขึ้นตามนโยบายของคณะกรรมการกำกับฯ โดยเป็นการประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และผู้ประกอบการสายการบิน
ว่า จากการที่ประเทศไทยสามารถปรับระดับมาตรฐานการบินของไทย จาก Category 2 (CAT2) ยกระดับกลับไปสู่ Category 1 (CAT1) เป็นกลุ่มประเทศที่มีมาตรฐานการบินอยู่ในระดับมาตรฐานสากลนั้น ทำให้ CAAT และภาคส่วนการบินมั่นใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายศูนย์กลางการบินของภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO และศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจร (Training Center) พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) สัญชาติไทย และส่งเสริมกิจกรรมการทำการบินทั่วไป (General Aviation) ด้านการส่งเสริมและจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) คณะทำงานฯ Aviation Hub เตรียมจัดทำ Master Plan เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ
โดยคณะทำงานฯ Aviation Hub จะส่งเสริมให้ศูนย์ซ่อมอากาศยาน MRO ของไทยเป็น หมุดหมายหลักของสายการบินทั่วโลกที่มาแวะพักและซ่อมบำรุง โครงสร้างการให้บริการของศูนย์ MRO ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะมีบริษัทต่าง ๆ จากทั่วโลกมาเปิดบริการ ตั้งแต่งานซ่อมบำรุงอากาศยาน งานซ่อมบำรุงส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และงานซ่อมบำรุงรักษาบริภัณฑ์และชิ้นส่วนของอากาศยาน “สายการบินที่ต้องการนำเครื่องบินมาซ่อมบำรุงที่ประเทศไทย จะมีทางเลือกมากขึ้น โดยจะเลือกซ่อมบำรุงกับบริษัทที่ตัวเองต้องการ หรือซ่อมกับบริษัทอื่น ๆ ก็ได้ เช่น ถ้าเป็นเครื่องบินของโบอิ้งก็อาจจะอยากซ่อมกับบริษัทที่มาจากสหรัฐฯ ถ้าเป็นเครื่องบินแอร์บัสก็อาจจะซ่อมกับบริษัทที่มาจากยุโรป ถ้าเรามีทางเลือกเราก็จะได้ลูกค้า
มากขึ้น ก็จะกลายเป็น Aviation Hub จริง ๆ” พลอากาศเอกมนัทฯ กล่าว ด้านการส่งเสริมธุรกิจ Air Cargo สัญชาติไทย คณะทำงานฯ Aviation Hub จะเร่งส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการไทยมากขึ้น โดยลดอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (Barrier to Entry) เช่น การเสนอการปรับปรุงกฎระเบียบในเรื่องของสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวไทยของผู้ประกอบการสายการบินที่ให้บริการการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสในการรวบรวมทุนค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนเงินทุนและเติบโตเป็นสายการบินขนส่งสินค้า
สัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ และเตรียมประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone) ด้านการสนับสนุนให้มี Aviation Training Centre คณะทำงานฯ Aviation Hub เตรียมจัดทำแผนการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจร ณ ท่าอากาศยานที่มีศักยภาพ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นต้น โดยมีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากด้านการบิน พลเรือนด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรฐานระดับโลกมาใช้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเติบโต ด้านอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย องค์ประกอบของศูนย์ฝึกอบรมฯ เช่น ศูนย์ปฏิบัติการฝึกบินจำลองสำหรับวิศวกรรมการบิน ศูนย์ฝึกช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกปฏิบัติการควบคุมการจราจร ทางการอากาศจำลองแบบ 360 องศา ศูนย์ฝึกนายช่างภาคพื้นดิน เป็นต้น
ซึ่ง CAAT ตั้งเป้าหมายให้ มีการจัดทำแผนการจัดสร้างศูนย์ฝึกภายในปี 2569 นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแนวทางพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำการบินสำหรับการบินทั่วไป (General Aviation) อีกด้วย พลอากาศเอก มนัทฯ กล่าวต่อว่า CAAT มีแนวทาง เพื่อสนับสนุนนโยบาย Aviation Hub เช่น การส่งเสริมการทำการบินส่วนบุคคล (Private Jet) โดยเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานและอำนวยความสะดวกในการทำการบินประเภทการบินส่วนบุคคล (Private jet) เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายสูง (Luxury Tourism) ทบทวนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดด้านอายุ
อากาศยานที่ปฏิบัติการบิน การส่งเสริมการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการขนส่งในเขตเมือง การพัฒนากฎระเบียบและ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Sea plane ในประเทศไทย การนำระบบการดำเนินงาน แบบเร่งด่วน (Fast track) มาใช้ในการออกใบอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ประธานกรรมการกำกับฯ และคณะกรรมการกำกับฯ และ CAAT มั่นใจในความพร้อมและศักยภาพของอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมเดินหน้าผลักดันนโยบาย Aviation Hub อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บูรณาการทุกกลไก และลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน เพื่อวางรากฐาน ที่แข็งแกร่งและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมการบินไทย